วาฬบรูด้า

วาฬบรูด้า

“วาฬ” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็นวาฬซึ่งแหวกว่ายในท้องทะเลจริงๆกับตาตนเองสักครั้ง เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร อีกทั้งเป็นหนึ่งในสัตว์อนุรักษ์และใกล้สูญพันธุ์ แต่กระนั้นในประเทศไทยก็มีโอกาสได้ดูวาฬตามธรรมชาติแหวกว่ายในท้องทะเลได้ โดยสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือ วาฬสายพันธุ์บรูด้า (Bryde’s Whale) 

วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม มีจุดเด่นคือ ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตามแนวราบ มีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง และจะมีสันบนหัว 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้ดำเนินการศึกษาจำแนกประชากรวาฬบรูด้าโดยการใช้ภาพถ่าย และอาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่าง ๆ ตามลำตัว ล่าสุดมีรายงานว่าประเทศไทยพบ วาฬบรูด้าทั้งหมด 61 ตัว และแต่ละตัวก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง

 ตามปกติแล้ววาฬบรูด้าถูกพบเจอได้ทั่วไปในท้องทะเล เขตอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบวาฬบรูด้า

ทั้งทางฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยในฝั่งอันดามันจะพบในบริเวณเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และเกาะพระทอง เกาะราชาน้อยเกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น และในทะเลฝั่งอ่าวไทย จะพบทั้งในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

ข้อมูลชีววิทยาและนิเวศวิทยา                                

การดำรงชีวิตของวาฬและโลมา

การหาอาหาร

“วาฬ” จะออกล่าเหยื่อกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจจะมีสมาชิก 3-40 ตัว ตัวเมียและตัวที่มีอายุน้อยจะว่ายอยู่ใกล้ๆ กัน ตัวผู้จะว่ายนำหน้าห่างออกไปในกรณีที่มีการย้ายที่หาอาหาร ในยามที่มีความสุขฝูงวาฬพิฆาตมักจะกระโดดน้ำ ฟาดหัวฟาดหางให้เห็นเป็นครั้งคราว เมื่อถึงยามสืบพันธุ์ วาฬตัวเมียจะคลอดลูกเป็นตัว ใช้เวลาตั้งท้องทีละตัว หลังจากตั้งท้องนาน 1 ปี และทันทีที่คลอดลูกออกมาแม่ปลาวาฬจะใช้ลำตัวดันลูกขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อสูดอากาศเข้าปอดเป็นครั้งแรกของชีวิต แม่ปลาวาฬจะให้ลูกดูดนมเป็นอาหารเลี้ยงตัวจนกระทั่งลูกขนาดใหญ่พอสมควรจึงหย่านม

การนอน

วาฬและโลมา ไม่มีระยะเวลาในการนอนที่ยาวนานเหมือนกับมนุษย์หรือสัตว์โดยทั่วไป เป็นเพียงแต่การพักผ่อนกล้ามเนื้อในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อโลมานอนหลับจะใช้สมองในบางส่วนเพื่อพักผ่อนและอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในกระบวนการหายใจให้เป็นปกติ โดยวิธีการนอนของโลมา มันจะคู้ตัว โดยเอาศีรษะและส่วนหางจมอยู่ในน้ำ ส่วนหลังลอยตัวอยู่บนผิวน้ำประมาณ 1 นาที การว่ายน้ำไปในกลุ่มอย่างเงียบๆ โดยอาศัยช่วงระยะเวลาที่ไม่มีภัยคุกคามเป็นการพักผ่อนกล้ามเนื้อไปในตัว หรือการกบดานใต้พื้นน้ำ เป็นการพักผ่อนในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีทั้งการหลับตาทั้งสองข้างหรือลืมตาข้างใดข้างหนึ่ง

การใช้สัญญาณเสียงในการสื่อสาร คือ การปล่อยสัญญาณเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง ซึ่งถูกส่งจากบริเวณ Melon gland บนส่วนหัวออกไปด้านหน้า เมื่อไปกระทบกับวัตถุที่ขวางอยู่ เสียงนั้นก็จะสะท้อนกลับมาสู่ตัวรับสัญญาณซึ่งอยู่ใต้ขากรรไกร แล้วส่งต่อไปยังส่วนหูตอนใน เพื่อให้สมองแปลงสัญญาณคลื่นเสียงนั้นว่าเป็นวัตถุชนิดใด ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับระบบโซนาร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ประโยชน์จากการใช้สัญญาณเสียง คือ

1) ใช้แทนการมองเห็นสภาพแวดล้อมใต้น้ำในสภาวะที่มีความขุ่นของน้ำและแสงสว่างไม่เพียงพอ

2) ช่วยในการบอกทิศทางและตำแหน่งของอาหาร

3) ติดต่อสื่อสารระหว่างกันในกลุ่ม รวมถึงการกระตุ้นลูกโลมาแรกเกิดให้จำเสียงแม่ได้

4) การเตือนภัยด้วยสัญญาณเสียง

การสืบพันธุ์ของวาฬและโลมา

โดยธรรมชาติแล้ววาฬและโลมาเพศผู้จะมีแรงขับทางเพศสูง ทำให้วันหนึ่งๆ สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง ทว่าอาจจะไม่ใช่พ่อพันธุ์ที่ดีอย่างที่คิด เพราะเพียงแค่ 12 วินาที การผสมพันธุ์ก็เสร็จสิ้น ตามสรีระแล้ว อวัยวะเพศของวาฬและโลมาหดอยู่ในตัว จะแสดงออกมาก็ต่อเมื่อได้รับแรงกระตุ้น อีกทั้งองคชาติของโลมายังสามารถหมุนไปรอบๆ ซึ่งวาฬและโลมาตัวผู้สามารถใช้อวัยวะนี้คลำสำรวจสัมผัสสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้ ทั้งนี้ เมื่อวาฬและโลมาเพศผู้เป็นสัตว์ที่มีความต้องการจะผสมพันธุ์อยู่บ่อยๆ มันก็จะพยายามประกบตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ หลังจากการผสมพันธุ์แล้วจะมีการปฏิสนธิภายใน จากนั้นโลมาและวาฬจะตั้งท้องเป็นเวลา 12 เดือน และคลอดลูกออกมา

ลูกวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษา อุณหภูมิในร่างกาย ลูกวาฬและโลมาบางชนิดมีขนอยู่ 2 ข้างของแนวปากบน (snout) และจะหดหายไปเมื่อโตขึ้น วาฬและโลมาส่วนใหญ่คลอดลูกโดยส่วนหางออกมาก่อน เพื่อให้ส่วนของช่องหายใจเป็นส่วนสุดท้ายที่ออกมาสัมผัสน้ำทะเล และสามารถว่ายน้ำได้ทันที โดยโผล่ขึ้นมาสูดอากาศหายใจครั้งแรกในทันทีที่คลอด ลูกแรกเกิดมีขนาดใหญ่ประมาณ 40% ของแม่ ลูกวาฬและโลมาจะว่ายไปกับแม่และรับอาหารจากต่อมน้ำนม (mammary slit) ซึ่งอยู่สองข้างของช่องเพศโดยหัวนมมีกล้ามเนื้อ ยึดรอบสำหรับบีบตัวให้หัวนมโผล่ออกมาขณะให้นมลูก และดึงหัวนมกลับซ่อนในลำตัวเมื่อเสร็จจากการให้นม ปลาวาฬและโลมาจะมีระยะเวลาหย่านมนานมาก ทั่วไปจะมีระยะหย่านมนานประมาณ 2 ปี

 

การปรับตัวของวาฬและโลมา

วาฬและโลมามีการปรับตัวหลายๆ ประการเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในน้ำ เช่น มีวิวัฒนาการรูปร่างให้เพรียวทำให้สามารถว่ายน้ำได้เร็ว และเนื่องจากยังใช้ปอดในการหายใจ จมูกหรือช่องหายใจจึงเลื่อนไปอยู่บนสุดของส่วนหัวเพื่อสะดวกในการหายใจ ท่อหายใจกับช่องปากแยกกันเพื่อสะดวกในการกินอาหารใต้น้ำ มีการปรับปรุงระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นทดแทนขน ซึ่งลดรูปไปเนื่องจากไม่เหมาะสมในการใช้งานใต้น้ำ โดยการมีลักษณะลำตัวเรียวคล้ายตอร์ปิโดทำให้มีอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ผิวต่อปริมาตรต่ำ เป็นการลดพื้นที่ที่สัมผัสน้ำ การปรับปรุงโดยเพิ่มชั้นไขมัน (blubber) ใต้ผิวหนังให้หนาขึ้นเป็นฉนวนกันความร้อน โดยในชั้นไขมันจะมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงน้อยป้องกันการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิกับน้ำ ระบบเส้นเลือดดำจะถูกล้อมด้วยเส้นเลือดแดงซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า นอกจากนั้นการปรับตัวโดยลดอัตราการหายใจลง เป็นการลดการสูญเสียความร้อนที่ออกมากับอากาศและเป็นผลให้วาฬและโลมาสามารถดำน้ำได้นาน โดยเฉพาะวาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 3,000 เมตร ลูกวาฬและโลมาแรกเกิดจะมีขนาดเมื่อเทียบกับตัวแม่ค่อนข้างใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย

สายตาของวาฬและโลมาสามารถรับภาพได้ดีทั้งในน้ำและบนบก หลักฐานจากการฝึกโลมาต่างๆ การแสดงของโลมาจะทำตามลักษณะการเคลื่อนไหวหรือโบกมือของผู้ฝึก โดยเฉพาะในขณะที่โลมากระโดดขึ้นมารับอาหารจากมือผู้ฝึกในระยะสูงได้อย่างแม่นยำ แสดงให้เห็นว่าสายตาของโลมาสามารถมองเห็นภาพบนบกได้ชัดเจน จากลักษณะโครงสร้างของสมองวาฬและโลมา แสดงว่าวาฬและโลมาส่วนใหญ่ไม่มีประสาทในการรับกลิ่นจมูก จึงเลื่อนมาอยู่ส่วนกลางของหัว เนื่องจากไม่จำเป็นในการใช้รับกลิ่น แต่จะสะดวกในการหายใจเหนือผิวน้ำ โดยจะโผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อยก็สามารถหายใจได้

วาฬและโลมาจัดเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการสื่อสารระหว่างกันได้โดยใช้เสียง โดยเฉพาะในกลุ่มของวาฬและโลมาที่มีฟัน (toothed whales) สามารถใช้ระบบส่งและรับสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับมา (echo) ซึ่งใช้ในการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว และการหาอาหาร อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานการส่งสัญญาณเสียงโดยระบบ echo ในกลุ่มของวาฬและโลมาที่ไม่มีฟันสัญญาณอีกลักษณะหนึ่งซึ่งใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มคือการส่งสัญญาณคลื่นเสียงช่วงความถี่ตั้งแต่ 0-3,000 Hz ไกลถึงหลายสิบกิโลเมตร แตกต่างกันในแต่ละชนิด และสามารถรับส่งสัญญาณกันได้

ลักษณะการขึ้นหายใจ (Pattern of Breathing)

การหายใจของวาฬบรูด้า ปกติจะโผล่ส่วนหัวที่มีช่องหายใจสองช่องขึ้นเหนือผิวน้ำ หายใจออกอย่างแรง จะเห็นละอองน้ำพุ่งขึ้นสูง 3-4 ม.ที่เรียกว่า Blow แล้วหายใจเข้า ดำน้ำลงไป ขณะดำน้ำลงจะเห็นส่วนหลัง ครีบหลัง และส่วนหลังครีบหลังอีกเล็กน้อยโผล่เหนือน้ำแล้วจมตัวลง ซึ่งปกติจะไม่ยกแพนหางขึ้นเหนือผิวน้ำ การยกแพนหางขึ้นเหนือผิวน้ำหลังการหายใจพบในวาฬไซ (Sei whale) และวาฬหลังค่อม (Humpback whale)

การยกส่วนแพนหางในวาฬบรูด้ามักเกิดควบคู่กับการใช้แพนหางตีน้ำในการให้เหยื่อรวมกลุ่ม หรือในขณะที่ต้องการดำน้ำลึก สีด้านล่างของหางเป็นสีอ่อนแต่ในขณะที่ใช้พลังงานมากจะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากจนเห็นเป็นสีชมพูเข้ม

นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่าเมื่อวาฬโผล่ขึ้นหายใจในระยะใกล้เรือ จะได้กลิ่นของลมหายใจออก (Blow) ซึ่งมีกลิ่นแรง

การหายใจออก (Blowing)

เป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ง่ายในวาฬ การ Blow แสดงถึงการหายใจออกจนหมดปอดและพร้อมที่จะหายใจเข้า

Blow ที่เห็นเกิดจากการผสมกันระหว่างไอน้ำ (Vapor) ในปอด และน้ำทะเลบริเวณใกล้ๆ รูหายใจที่ถูกพ่นขึ้นไปในมวลอากาศ ขณะที่วาฬหายใจออกมาที่บริเวณผิวน้ำ (บางครั้งมีการ Blow ใต้น้ำด้วย (Underwater blow) หากมองจากมุมสูงเราจะสังเกตเห็นฟองอากาศลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ) การหายใจออกจะเร็วและแรง ส่วนการหายใจเข้าจะใช้เวลานานกว่าเวลาที่ใช้หายใจออกเล็กน้อย แต่อาจสังเกตได้ไม่ชัดเจนเท่าการกับการหายใจออก หรือ Blow โลมาใช้เวลาในการหายใจออกประมาณ 0.3 วินาที ส่วนวาฬใช้เวลานานประมาณ 1-2 วินาที พบว่าในลูกวาฬสีเทา (Gray whale) อายุ 10 เดือนมีความจุของปอด 200 ลิตร และวาฬสีน้ำเงิน (Blue whale) ขนาดใหญ่มีปอดจุมากถึง 5,000 ลิตร

วาฬบรูด้ามีการ Blow สูงประมาณ 3-4 ม. จากการสำรวจจะสังเกตการ Blow ของลูกที่ตัวขนาดเล็ก (4-6 ม.) ได้ค่อนข้างยาก ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีการ Blow ใต้น้ำและขึ้นหายใจเข้าอย่างรวดเร็ว หรือตัวแม่อาจบังตัวลูกอยู่ หรืออาจมาจากคลื่นสูง ทำให้การสังเกตยากขึ้น บางครั้งหายใจออกใต้น้ำและโผล่ส่วนหัวเล็กน้อยเพื่อหายใจเข้า ในกรณีนี้จะไม่เห็นการ Blow ที่ชัดเจน หรือไม่เห็นเลยในกรณีที่อยู่ลึก หรือกรณีของลูกที่มีขนาดเล็กซึ่งมี Blow ขนาดเล็กตามไปด้วย หากหายใจออกใต้น้ำ และขึ้นมาหายใจเข้าที่ผิวน้ำ จะสังเกตเห็นได้ยากมากเช่นกัน จนบางครั้งทำให้เราคิดว่าลูกดำน้ำได้นานกว่าแม่ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่

การออกลูกและการเลี้ยงดู

โลมาและวาฬเพศผู้เรียกว่า Bull เพศเมียเรียกว่า Cow และลูกเรียกว่า Calf ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัว ยกเว้นแม่และลูกในขณะให้นม

โลมาและวาฬเพศเมียออกลูกครั้งละหนึ่งตัว โดยที่ส่วนหางจะออกมาก่อนส่วนหัว เพื่อป้องกันการจมน้ำ เมื่อส่วนหัวออกมาหลังสุด ลูกเกิดใหม่จะสามารถโผล่ขึ้นหายใจที่ผิวน้ำได้ทันที แม่ให้นมลูกโดยการฉีด (Squirting) น้ำนมที่มีมีความเหนียวเข้มข้นอุดมด้วยไขมัน มีลักษณะคล้ายยาสีฟันเข้าไปในปากของลูก

การให้นมลูกอาจนานมากกว่า 1 ปี โดยทั่วไปวาฬมีระยะสมบูรณ์เพศที่อายุ 7-10 ปี ส่วนวาฬบรูด้าเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 8-13 ปี ตั้งท้องนาน 11-12 เดือน และลูกหย่านมเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน

สังเกตพบการขึ้นกินอาหารของลูกวาฬบรูด้าขนาดเล็ก (ความยาว 4-6 ม.) จะไม่สามารถใช้ส่วนหัวเสยขึ้นกินเหยื่อได้เหมือนแม่ ส่วนลูกบางตัวที่เสยกินเหยื่อได้แล้วนั้น ขณะกำลังเสยขึ้นกินปลาพบว่า ไม่ว่าลูกจะเสยขึ้นกินมาก่อนแม่ขึ้น หรือหลังจากแม่ขึ้นก็ตาม แต่ลูกจะจมตัวลงใต้น้ำก่อนแม่เสมอ และขณะที่คู่แม่ลูกเสยขึ้นอ้าปากที่ผิวน้ำ ลูกวาฬมักจะมีการโน้มตัวเข้าไปหาแม่  แต่ไม่ว่าจะขึ้นเสยกิน หรือเสยกินแบบตะแคง ลูกก็จะลงก่อนแม่เสมอ

ในกรณีที่ไม่ใช่คู่แม่-ลูก หรือคู่ที่ลูกมีขนาดใหญ่แล้ว มีการเสยกินพร้อมๆ กันทั้งคู่ แต่ไม่พบพฤติกรรมที่ตัวหนึ่งจะโน้มไปหาอีกตัวหนึ่งขณะอ้าปากที่ผิวน้ำ 

พบว่าลูกวาฬสีน้ำเงินดื่มนมแม่วันละ 100 แกลลอน แม่ยังต้องดูแลลูกให้ปลอดภัย ดังนั้นแม่วาฬจึงต้องใช้พลังงานมากในการเลี้ยงลูกแต่ละครั้ง วาฬจึงเป็นสัตว์ออกลูกครั้งละเพียงตัวเดียวเท่านั้น พฤติกรรมการกินนมของลูกวาฬ ใกล้ผิวน้ำ อาจสังเกตแพนหางซีกหนึ่งตั้งขึ้นเหนือผิวน้ำ ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นในขณะที่ลูกว่ายน้ำเอียงลำตัวโดยให้ปากไปอยู่ในตำแหน่งMammary slits ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนด้านท้องของแม่ (ค่อนไปทางหาง)

จากการสำรวจแยกอัตลักษณ์ วาฬบรูด้าในปี พ.ศ. 2553-2554 พบวาฬ คู่แม่-ลูก จำนวนทั้งหมด 7 คู่ คือ 1) แม่สดใส-ลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อเพราะไม่มีตำหนิที่สังเกตได้ 2) แม่กันยา-ลูกยังไม่ได้ตั้งชื่อเพราะไม่มีตำหนิที่สังเกตได้ 3) แม่วันสุข-เจ้าสุขใจ 4) แม่สีคราม-เจ้าสีฟ้า 5) แม่ตองอ่อน-เจ้าแตงไทย 6) แม่ข้าวเหนียว-เจ้าส้มตำ และ 7) แม่สาคร-เจ้าท่าจีน

เมื่อต้นปี 2554 พบว่า แม่สาคร แม่ข้าวเหนียว และ แม่ตองอ่อน มีลูกขนาดเล็กอยู่ด้วย แสดงว่าวาฬทั้งสามตัวนี้ตั้งท้องในปีที่ผ่านมา และเพิ่งออกลูกในต้นปีนี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสำรวจและสังเกตพฤติกรรมของวาฬกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ทั้งในประเทศและระดับสากล

ทำอย่างไรถึงจะได้ชมวาฬอย่างใกล้ชิด

แหล่งที่นิยมไปชมวาฬกันมากอีกแห่งหนึ่ง ก็มีที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การออกไปชมวาฬต้องมีการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม อย่างน้อยสิ่งจำเป็นควรมี อาหารเครื่องดื่ม ยาแก้เมาเรือ ครีมกันแดด และในบางวันอาจจะต้องมีเสื้อกันฝนเนื่องจากอาจจะมีฝนตก กล้องถ่ายภาพวาฬก็ควรจะเลนส์ที่มีช่วงระยะ ซูมขยาย ได้พอสมควร ความยาวเลนส์ควรอยู่ที่ 200 - 300 mm ขึ้นไป แต่ในบางครั้งวาฬก็เข้ามาใกล้จนสามารถมือถือถ่ายรูปได้เหมือนกัน

ที่บ้านบางตะบูนมีเรือให้บริการนำเที่ยวชมวาฬ ทั้งสิ้น 3 ลำด้วยกัน

     เรือลำที่หนึ่ง เรือพี่จำรูญ เป็นเรือโดยสาร ขนาดพิกัด ไม่เกิน 15 ที่นั่ง มีหลังคากันแดดกันฝน มีอุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานกรมเจ้าท่า เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ถังดับเพลิง เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารและมีประกันภัยการเดินทางแบบหมู่คณะ สำหรับวันเดินทางหนึ่งวัน โดยการเดินทาง จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 07.30 น. โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาขึ้นเรือ ที่ท่าวัดปากอ่าวบางตะบูน และจะเข้าฝั่งที่เวลา 15.30 น. โดยประมาณ เรือพี่จำรูญ จะมีอาหารเช้า อาหารกลางวัน น้ำดื่ม ขนมหวาน และผลไม้ ไว้บริการกับนักท่องเที่ยว โดยรวมอยู่ใน แพ็กเกจ ราคาเหมาบริการ ชมวาฬ อยู่ที่ 1,400 บาท / 1 ท่าน สามารถ ติดต่อที่พี่จำรูญ 084-5586115 084-1003005 (กรุณาจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย)

การเดินทางมาขึ้นเรือ บางตะบูน อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้ถนนพระราม ๒ (ธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกม. 75 มีทางแยกหน้าปั๊ม ปตท. ป้ายจะเขียนว่าเส้นทางลัดไปชะอำ ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนเข้าเขต ตำบลบางตะบูน ตรงไปจนถึงสะพานเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวลงสะพานด้านขวามือ เพื่อขึ้นเรือ ที่ท่าเรือวัดปากอ่าวบางตะบูน

เรือลำที่สองเรือริมทะเล เป็นเรือโดยสาร ขนาดพิกัด ไม่เกิน 15 ที่นั่ง มีหลังคากันแดดกันฝน มีห้องน้ำ มีอุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานกรมเจ้าท่า เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ถังดับเพลิง เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร และมีประกันภัยการเดินทางแบบหมู่คณะ สำหรับวันเดินทางหนึ่งวัน โดยการเดินทาง จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 07.30 น. โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาขึ้นเรือ ที่ท่าร้านอาหารริมทะเล และจะเข้าฝั่งที่เวลา 15.30 น. โดยประมาณ แพ็กเกจ ราคาเหมาบริการ ชมวาฬ แบบเหมาลำ 9,500 บาท สามารถ ติดต่อที่ พี่เล็ก 086-7965506 (กรุณาจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย)

      การเดินทางมาขึ้นเรือ บางตะบูน อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้ถนนพระราม ๒ (ธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกม. 75 มีทางแยกหน้าปั๊ม ปตท. ป้ายจะเขียนว่าเส้นทางลัดไปชะอำ ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนเข้าเขต ตำบลบางตะบูน เมื่อเห็นป้ายร้านอาหารริมทะเล ให้เลี้ยวขวา ก่อนทางขึ้นสะพานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อขึ้นเรือ ที่ท่าเรือร้านอาหารริมทะเล                                                                   

     เรือลำที่สาม เรือบางตะบูนเบย์ เป็นเรือโดยสาร ขนาดพิกัด ไม่เกิน 30 ที่นั่ง มีหลังคากันแดดกันฝน มีห้องน้ำ มีอุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานกรมเจ้าท่า เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ถังดับเพลิง เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารและมีประกันภัยการเดินทางแบบหมู่คณะ สำหรับวันเดินทางหนึ่งวัน โดยการเดินทาง จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 07.30 น. โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาขึ้นเรือ ที่ท่าร้านอาหารบางตะบูนเบย์ และจะเข้าฝั่งที่เวลา 15.30 น. โดยประมาณ เรือพี่บางตะบูนเบย์ จะมีอาหารกลางวันแบบบุฟเฟ่ต์ กับข้าว 3 อย่าง ข้าวสวย  พร้อมน้ำดื่ม และผลไม้ ไว้บริการกับนักท่องเที่ยว โดยรวมอยู่ใน แพ็กเกจ ราคาเหมาบริการ ชมวาฬ แบบเหมาลำ อยู่ที่ราคา 29,000บาท สามารถ ติดต่อที่ร้านอาหาร บางตะบูนเบย์ 082-4999993 (กรุณาจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อย)

     การเดินทางมาขึ้นเรือ บางตะบูน อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้ถนนพระราม ๒ (ธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกม. 75 มีทางแยกหน้าปั๊ม ปตท. ป้ายจะเขียนว่าเส้นทางลัดไปชะอำ ขับตามถนนไปเรื่อยๆ จนเข้าเขต ตำบลบางตะบูน เมื่อเห็นป้ายร้านอาหารบางตะบูนเบย์ ให้เลี้ยวขวา เข้าไปในร้านอาหารบางตะบูนเบย์ เพื่อขึ้นเรือ ที่ท่าเรือร้านอาหารบางตะบูนเบย์

     *หมายเหตุ เนื่องจากช่วงฤดูศึกษาวาฬ มีระยะเวลาสั้น คือ ปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนธันวาคม เท่านั้น ที่ช่วงนี้วาฬขึ้นมาให้เราเห็นได้บ่อยครั้ง เรือบริการชมวาฬจึงเต็มตลอด ควรจะทำการจองล่วงหน้า เพื่อป้องกันการพลาดโอกาส

 

ข้อควรปฏิบัติในการชมโลมาและวาฬ (Guidelines for whale watching)

โปรดให้ความระมัดระวังอย่างมากในการเข้าใกล้บริเวณที่คาดว่าจะมีโลมาและวาฬอยู่ และปฏิบัติตามข้อแนะนำการชมโลมาและปลาวาฬ

1. ความเร็วเรือ : ลดความเร็วเรือให้ต่ำกว่า 7 น็อต (Knot) ในรัศมี 400 เมตรจากโลมาและวาฬ และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความเร็วของเรือแบบกระทันหัน ชลอความเร็วเครื่องยนต์เมื่ออยู่ใกล้ๆ โลมาและวาฬ และใช้ความเร็วเรือไม่เกิน 4 น็อตในรัศมี 100-300 เมตรจากวาฬ และในรัศมี 50-150 เมตรจากโลมา

2. จำนวนเรือ : ไม่ควรเกิน 3 ลำ ที่เข้าใกล้วาฬในรัศมีระหว่าง 100-300 เมตร หรือเข้าใกล้โลมาในรัศมี 50-150 เมตร

3. ทิศทาง : การเข้าใกล้โลมาและวาฬให้เข้าทางด้านข้างเท่านั้น ไม่เข้าทางด้านหัวหรือหาง

4. ระยะห่างในการชม :
          4.1 กรณีวาฬมีลูก ควรให้เรืออยู่ห่างในรัศมี 300 เมตรจากวาฬ ควรนำเรือเข้าดูจากทางด้านข้างของวาฬ
          4.2 กรณีวาฬขนาดใหญ่ เข้าใกล้ได้ไม่เกิน 100 เมตร ควรนำเรือดูจากทางด้านข้างของวาฬ หากปลาวาฬว่ายเข้าใกล้เรือ ควรดับเครื่องยนต์ หรือไม่เปลี่ยนทิศทางและความเร็วเรืออย่างกระทันหัน เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับวาฬ หากต้องการเคลื่อนเรือต้องให้วาฬห่างจากเรืออย่างน้อย 100 เมตร หากเป็นโลมาให้มีระยะห่างในรัศมี 150 เมตร และเข้าใกล้ได้ไม่เกิน 50 เมตร

          4.3 หากวาฬว่ายน้ำอย่างรวดเร็วออกจากตำแหน่งที่สังเกต ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์เพื่อติดตามในทันที เพราะจะทำให้วาฬตื่นตกใจ
          4.4 การดูวาฬจากเครื่องบิน (Aerial observation) ควรอยู่ในระยะความสูงระหว่าง 300-500 เมตรจากผิวน้ำ หากเป็นเฮลิคอปเตอร์ควรบินอยู่สูงที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 500 เมตร และห่างจากวาฬ 500 เมตร หากเป็นเครื่องบินควรบินสูงประมาณ 300 เมตร และอยู่ห่างจากวาฬ 300 เมตร (เพราะเฮลิคอปเตอร์ มีเสียงเครื่องยนต์ที่ดังมากและลมจากใบพัดด้านบนจะทำให้น้ำกระจายหากบินในระดับต่ำ)
          4.5 การพายเรือแคนู (Sea kayak) ควรอยู่ห่างวาฬในรัศมี 30 เมตร

5. เสียงรบกวน : เนื่องจากวาฬสื่อสารกันด้วยคลื่นเสียงในการหาอาหารและเดินทาง ดังนั้นเสียงรบกวนต่างๆ ทั้งจากเหนือน้ำและใต้น้ำจะส่งผลรบกวนวาฬ จึงไม่ควรกระทำการใดๆ ให้เกิดเสียงดังมาก เช่น การเร่งเครื่องยนต์เรือ การใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และการส่งเสียงดังของนักท่องเที่ยว

6. ไม่ให้อาหาร : ไม่ควรให้อาหารแก่โลมาหรือวาฬในธรรมชาติ

7. ไม่ควรว่ายน้ำ หรือดำน้ำเล่นกับโลมาหรือวาฬ : การว่ายน้ำด้วยหน้ากากและท่อหายใจ หรือดำน้ำเล่นกับโลมาหรือวาฬ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ อาจทำให้บาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งการติดเชื้อโรคที่ติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คน

ฤดูกาลดูวาฬบรูด้า (ช่วงเวลาที่สามารถพบวาฬบูรด้าได้บ่อยที่สุด)

         ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก พบว่า อาหารหลักของวาฬบรูด้า คือ ปลากะตักแก้ว ปลากะตักควาย ปลาทู และเคยโกร่ง  ซึ่งในระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน จะเป็นช่วงเวลาที่มีปลากะตักและกุ้งเคยอุดมสมบูรณ์ที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่วาฬบรูด้าว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำทะเลบ่อยที่สุด แต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูมรสุม ทำให้การนั่งเรือออกไปชมไม่สะดวก

          แต่ในฤดูหนาว ช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนธันวาคม จะเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าสดใส สามารถเดินเรือได้ตามปกติ จึงเหมาะกับการออกไปชมวาฬบรูด้า สำหรับพื้นที่ที่มีโอกาสพบวาฬบรูด้าได้บ่อยตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน จะอยู่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยรูปตัว ก หรืออ่าวไทยตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งแต่อ่าวบางตะบูน แหลมผักเบี้ย และหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ในระยะห่างจากฝั่ง 2-10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่วาฬบรูด้าว่ายน้ำกินอาหาร (ปลากะตัก) นั่นเอง จนมีการจัดเทศกาลชมวาฬบรูด้าขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นประจำด้วย

 

จุดขึ้นเรือนำเที่ยวชมวาฬบรูด้าและโลมา ในเขตตำบลบางตะบูน

           สำหรับใครที่อยากไปดูวาฬบรูด้าด้วยตา สามารถติดต่อขึ้นเรือชมวาฬบรูด้าและโลมา ซึ่งมีอยู่ 4 จุด ใน 2 จังหวัดหลัก ๆ คือ สมุทรสาคร และเพชรบุรี ดังนี้

1. ตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร

          นับเป็นจุดขึ้นเรือที่ใกล้กรุงเทพฯ มาก ขับรถเพียง 30 นาทีก็ถึงแล้ว จึงเป็นจุดที่หลายคนมักจะเรียกว่า จุดขึ้นเรือบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

2. บ้านบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

          บริเวณนี้จะมีร้านอาหารทะเลบรรยากาศริมน้ำ ที่มีบริการล่องเรือชมวาฬบรูด้าเมื่อถึงช่วงฤดูชมวาฬด้วย เช่น

- เรือลุงจำรูญ เชิงสะพานบางตะบูน โทรศัพท์ 084-5586115 084-1003005

- เรือลุงเล็ก ร้านริมทะเล บางตะบูน โทรศัพท์ 086-7965506

- เรือบางตะบูนเบย์ ร้านบางตะบูนเบย์ บางตะบูน โทรศัพท์ 082-4999993

3. ท่าเรือแหลมผักเบี้ย ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

          จุดนี้เป็นศูนย์ติดต่อเช่าเรือของชมรมวาฬบรูด้า ตำบลแหลมผักเบี้ย ซึ่งนอกจากการล่องเรือดูวาฬแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ล่องเรือชมทะเลแหวก เก็บหอย เล่นโคลน ปล่อยลูกปู และปลูกป่าโกงกางอีกด้วย

4. หาดเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

          จุดนี้จะเป็นจุดหลักในการขึ้นเรือไปดูวาฬในเทศกาลชมวาฬ ทานปู @หาดเจ้าสำราญ ซึ่งนอกจากจะมีกิจกรรมหลักเป็นการล่องเรือดูวาฬแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถอิ่มอร่อยกับปูม้าและอาหารทะเลสด ๆ เลือกซื้อเลือกช้อปสินค้า OTOP ของตำบลหาดเจ้าสำราญ ของดีของเด็ดจากสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ และฟังเพลงชิล ๆ กับบรรยากาศริมทะเลได้ด้วย 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนออกทริปไปดูวาฬบรูด้า

          การไปดูวาฬบรูด้าที่อ่าวรูปตัว ก หรืออ่าวไทยตอนบน ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น และต้องนั่งรอบนเรือประมาณ 6-8 ชั่วโมง เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของปลาที่เป็นอาหารของวาฬด้วย

ดูวาฬบรูด้าแบบไปเช้า-เย็นกลับ

           เหมาะสำหรับคนที่มีเวลาจำกัด อยากไปเช้า เห็นวาฬบรูด้า แล้วกลับตอนเย็น สามารถเลือก ติดต่อ เรือทั้งสามลำที่ให้บริการในเขตตำบลบางตะบูนได้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เรือจะออกตอนเช้า เวลาประมาณ 07.00 น. และจะกลับเข้าฝั่งเวลา 15.00 น. โดยประมาณ สามารถขับรถกลับกรุงเทพฯ ได้สบาย ๆ ไม่เหนื่อยมาก

          ทั้งนี้ สิ่งที่ควรเตรียมไป ได้แก่ หมวก แว่นกันแดด เสื้อแขนยาว ครีมกันแดด และแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกทริปกันด้วย

 

เรือแบบไหน ที่จะล่องไปดูวาฬบรูด้า

           สำหรับเรือดูวาฬบรูด้าจะมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรือธรรมดา ไปจนถึงเรือสุดหรู ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละเจ้า ซึ่งก็มีทั้งแบบเหมาเรือ (10-15 คน/ลำ) หรือเดินทางร่วมกับกลุ่มอื่นให้ครบตามจำนวนคนที่กำหนดก็ได้ ทั้งนี้ เรือแต่ละเจ้าก็มีบริการที่แตกต่างกันไป เช่น อาหาร น้ำดื่ม ผู้บรรยายให้ความรู้ และช่างภาพ ตลอดจนประกัน และการบริการ เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในการล่องเรือดูวาฬบรูด้า

           โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการล่องเรือดูวาฬบรูด้าจะอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,800 บาท/คน หรือเหมาเรือเป็นลำจะอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท/ลำ หรือเป็นหลักหมื่นขึ้น ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของเรือ รวมถึงการบริการต่าง ๆ บนเรือด้วย สำหรับใครที่สนใจอยากไปดูวาฬบรูด้า สามารถติดต่อเพื่อจองล่วงหน้าและสอบถามราคาอีกครั้ง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว และคนขับเรือนำชมวาฬบรูด้า

- เมื่อเจอวาฬ ควรดับเครื่องยนต์เรือ ไม่ควรนำเรือเข้าใกล้วาฬมากกว่ารัศมี 300 เมตร และไม่ควรเปลี่ยนทิศทางและความเร็วเรือ
 

- ไม่ควรแล่นเรือขวางหรือไล่ตามวาฬ รวมถึงถ้าวาฬว่ายน้ำออกจากตำแหน่งที่มองเห็น ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ตาม
 

- ห้ามกระโดดน้ำลงไปถ่ายรูปกับวาฬ
 

- งดใช้เสียงดัง หรือใช้เสียงให้น้อยที่สุด เพราะวาฬจะใช้คลื่นเสียงในการสื่อสาร หาอาหาร และเดินทาง หากเสียงดังอาจจะเป็นการรบกวนการสื่อสารของวาฬได้

 

          ในช่วงฤดูกาลดูวาฬบรูด้า นักท่องเที่ยวมีโอกาสสูงมากที่จะได้เจอวาฬโผล่หัวขึ้นพ้นน้ำทะเล อ้าปากกว้าง ๆ งับปลากะตัก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วย

จากการศึกษาชีวิตของสัตว์ทะเลหายากในทะเลฝั่งอ่าวไทย ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่องนับ ๑๐ ปี สามารถแยกอัตลักษณ์ของวาฬบรูด้าแบบรายตัวจากข้อมูลการศึกษา Photo ID ได้ประมาณ ๖๐ ตัว พร้อมระบุครอบครัวโดยใช้ตัวแม่เป็นหลัก เพราะจะดูจากตัวแม่ที่มีการตั้งชื่อมาก่อนแล้ว มีพฤติกรรมเฝ้าเลี้ยงลูกตัวใหม่ๆ ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๑ ปี เราจึงตั้งชื่อลูกตัวใหม่ขึ้นมา จึงทำให้ทราบได้ว่าใครเป็นลูกของใคร โดยสามารถจำแนกได้ ๑๘ ครอบครัว

จากข้อมูลทางสถิติ พบจำนวนวาฬ อยู่ที่ 61 ตัว (จากคำบอกเล่าของผู้ประกอบการพบว่า ปัจจุบันในปี 2565 มีแม่ลูกวาฬ มีจำนวนประมาณ 90 ตัว)

 

 

 


Thai Arabic Chinese (Traditional) English French German Indonesian Japanese Korean Vietnamese


















คู่มือเพื่อการบริการประชาชน





 

ลิขสิทธิ์ © 2558 เทศบาลตำบลบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
เทศบาลตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โทร 032-473895